วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

บทภาพยนตร์ (SCREENPLAY)

บทภาพยนตร์ (SCREENPLAY) เปรียบเสมือนแบบร่าง(Sketch design)ของการสร้างภาพยนตร์ บทภาพยนตร์จะมีความคล้ายคลึงกับวรรณกรรมตรงที่การบอกเล่าเรื่องราวว่า ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แต่จะแตกต่างที่บทภาพยนตร์นั้นต้องสื่อความหมายออกมาเป็นภาพ โดยใช้ภาพเป็นตัวสื่อความหมาย เพื่อโน้มน้าวจินตนาการของผู้ชม

"หากวางโครงสร้างของบทภาพยนตร์ไม่ดีพอ...ย่อมไม่มีทางทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นออกมาดีได้"

องค์ประกอบของการเขียนบทภาพยนตร์

1.เรื่อง (STORY) หมายถึงเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นและดำเนินไปสู่จุดสิ้นสุด เรื่องอาจจะสั้นเพียงไม่กี่นาที อาจยาวนานเป็นปี หรือไม่รู้จบ(Infinity) ก็ได้ สิ่งสำคัญในการดำเนินเรื่อง คือปมความขัดแย้ง(Conflict)ซึ่งก่อให้เกิดการกระทำ ส่งผลให้เกิดเป็นเรื่องราว

2.แนวความคิด (CONCEPT) เรื่องที่จะนำเสนอมีแนวความคิด(Idea)อะไรที่จะสื่อให้ผู้ชมรับรู้

3.แก่นเรื่อง (THEME) คือประเด็นเนื้อหาสำคัญหรือแกนหลัก(Main theme)ของเรื่องที่จะนำเสนอ ซึ่งอาจประกอบด้วยประเด็นรองๆ(Sub theme)อีกก็ได้ แต่ต้องไม่ออกนอกแนวความคิดหลัก

4.เรื่องย่อ (PLOT) เป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่คิดขึ้นมาใหม่ เรื่องที่นำมาจากเหตุการณ์จริง เรื่องที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรม หรือแม้แต่เรื่องที่ลอกเลียนแบบมาจากภาพยนตร์อื่น สิ่งแรกนั้นเรื่องต้องมีความน่าสนใจ มีใจความสำคัญชัดเจน ต้องมีการมีการตั้งคำถามว่า จะมีอะไรเกิดขึ้น(What...if...?)กับเรื่องที่คิดมา และสามารถพัฒนาขยายเป็นโครงเรื่องใหญ่ได้

5.โครงเรื่อง (TREATMENT) เป็นการเล่าเรื่องลำดับเหตุการณ์อย่างมีเหตุผล เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์จะต้องส่งเสริมประเด็นหลักของเรื่องได้ชัดเจน ไม่ให้หลงประเด็น โครงเรื่องจะประกอบด้วยเหตุการณ์หลัก(Main plot)และเหตุการณ์รอง (Sub plot) ซึ่งเหตุการณ์รองที่ใส่เข้าไป ต้องผสมกลมกลืนเป็นเหตุเป็นผลกับเหตุการณ์หลัก

6.ตัวละคร (CHARECTOR) มีหน้าที่ดำเนินเหตุการณ์จากจุดเริ่มต้นไปสู่จุดสิ้นสุดของเรื่อง ตัวละครอาจเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือเป็นนามธรรมไม่มีตัวตนก็ได้ การสร้างตัวละครขึ้นมาต้องคำนึงถึงภูมิหลังพื้นฐาน ที่มาที่ไป บุคลิกนิสัย ความต้องการ อันก่อให้เกิดพฤติกรรมต่างๆของตัวละครนั้นๆ ตัวละครแบ่งออกเป็นตัวแสดงหลักหรือตัวแสดงนำ และตัวแสดงสมทบหรือตัวแสดงประกอบ ทุกตัวละครจะต้องมีส่งผลต่อเหตุการณ์นั้นๆ มากน้อยตามแต่บทบาทของตน ตัวเอกย่อมมีความสำคัญมากกว่าตัวรองเสมอ

7.บทสนทนา (DIALOGUE) เป็นถ้อยคำที่กำหนดให้แต่ละตัวละครได้ใช้แสดงโต้ตอบกัน ใช้บอกถึงอารมณ์ ดำเนินเรื่อง และสื่อสารกับผู้ชม ภาพยนตร์ที่ดีจะสื่อความหมายด้วยภาพมากกว่าคำพูด การประหยัดถ้อยคำจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ความหมายหรืออารมณ์บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ถ้อยคำมาช่วยเสริมให้ดูดียิ่งขึ้นก็ได้

โครงสร้างการเขียนบท

1.จุดเริ่มต้น (BIGINNING) ช่วงของการเปิดเรื่อง แนะนำเรื่องราว ปูเนื้อเรื่อง

2.การพัฒนาเรื่อง (DEVELOPING) การดำเนินเรื่อง ผ่านเหตุการณ์เดียวหรือหลายเหตุการณ์ เนื้อเรื่องจะมีความซับซ้อนมากขึ้น

3.จุดสิ้นสุด (ENDING) จุดจบของเรื่อง แบ่งออกเป็นแบบสมหวัง(Happy ending)ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจ และแบบผิดหวัง(Sad ending)ทำให้รู้สึกสะเทือนใจ


ปัจจัยสำคัญในโครงสร้างบท

1.แนะนำ (INTRODUCTION) คือการแนะนำเหตุการณ์ สถานการณ์ สถานที่ ตัวละครสิ่งแวดล้อม และเวลา

2.สร้างเงื่อนไข (SUSPENSE) คือการกระตุ้นให้เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างลึกลับมีเงื่อนไข มีปมผูกมัด ความขัดแย้ง ทำให้ผู้ชมเกิดความสงสัยและสนใจในเหตุการณ์

3.สร้างวิกฤตกาล (CRISIS) คือการเผชิญปัญหา วิเคราะห์ปัญหาของตัวละคร และหาทางแก้ไข หาทางออก หากตัวละครวนเวียนอยู่กับปัญหานานมากจะทำให้ผู้ชมรู้สึกหนักและเบื่อขึ้นได้ ควรที่จะมีการกระตุ้นจากเหตุการณ์อื่นมาแทรกด้วย

4.จุดวิกฤตสูงสุด (CLIMAX) เป็นช่วงเผชิญหน้ากับปัญหาครั้งสุดท้ายที่ถูกบีบกดดันสูงสุด ทำให้มีการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด

5.ผลสรุป (CONCLUSION) คือทางออก ข้อสรุป ทำให้เกิดความกระจ่าง ภาพยนตร์บางเรื่องอาจไม่มีบทสรุป ก็เพื่อให้ผู้ชมนำกลับไปคิดเอง

โครงสร้างเรื่อง
ในแต่ละช่วงตอนจะประกอบด้วยปัจจัยสำคัญทั้ง 5 เสมอ

จุดเริ่มต้น (BIGINNING) คือ
1.แนะนำ (INTRODUCTION)
2.สร้างเงื่อนไข (SUSPENSE)
3.สร้างวิกฤตกาล (CRISIS)
4.จุดวิกฤตสูงสุด (CLIMAX)
5.ผลสรุป (CONCLUSION)

การพัฒนาเรื่อง (DEVELOPING)
1.แนะนำ (INTRODUCTION)
2.สร้างเงื่อนไข (SUSPENSE)
3.สร้างวิกฤตกาล (CRISIS)
4.จุดวิกฤตสูงสุด (CLIMAX
5.ผลสรุป (CONCLUSION)

จุดสิ้นสุด (ENDING)
1.แนะนำ (INTRODUCTION)
2.สร้างเงื่อนไข (SUSPENSE)
3.สร้างวิกฤตกาล (CRISIS)
4.จุดวิกฤตสูงสุด (CLIMAX)
5.ผลสรุป (CONCLUSION)

สรุป
บทภาพยนตร์ (SCREENPLAY) จะเป็นการเขียนอธิบายรายละเอียดเรื่องราว เมื่อได้โครงสร้างเรื่องที่ชัดเจนแล้วจึงนำเหตุการณ์มาแตกขยายเป็นฉากๆ ลงรายละเอียดย่อยๆ ใส่สถานการณ์ ช่วงเวลา สถานที่ ตัวละคร บทสนทนา การกระทำ บางครั้งอาจกำหนดมุมกล้อง ขนาดภาพ แน่นอนชัดเจนเลยก็เป็นได้ บทภาพยนตร์จึงเขียนเพื่อเป็นการเตรียมงานผลิด(Pre-production) และฝึกซ้อมนักแสดงโดยเฉพาะ หลังจากนั้นจึงพัฒนาต่อเป็นบทสำหรับการถ่ายทำ(Shooting script) และบทภาพ(Story board)ต่อไป

2 ความคิดเห็น:

  1. ปัจจุบันเรามีโปรแกรมช่วยเขียนบท อยู่บ้างรึปล่าวครับ

    ขอบคุณมากครับ
    ซุป

    ตอบลบ